
ในโลกออนไลน์ได้มีสมาชิกพันทิปที่ใช้ชื่อคุณ สมาชิกหมายเลข 714007 ได้เข้ามาตั้งคำถามในเว็บไซต์พันทิปบอกว่า "ทำไม โรงพยาบาลรัฐต้องไปรอคิวตั้งแต่ ตีสี่ ตีห้าครับ" โดยได้โพสต์ว่า...
"คือทำไม โรงพยาบาลรัฐต้องไปรอคิวตั้งแต่ ตีสี่ ตีห้าครับ เพราะผมสังเกตุ ไปสายๆ นี่ก็ไม่ทันตรวจแล้ว เหมือนจะปิดรับคนไข้ตอน ห้าโมงเช้า ทำไมไม่เปิดรับให้มันยาวกว่านี้ แล้วแบ่งหมอเข้ากะสองกะ เช้า บ่าย อันนี้ทำไม่ได้หรือว่า สงสารหมอ เพราะทำแล้วจะไม่มีหมอมาตรวจ เพราะส่วนใหญ่บ่ายๆ เย็นๆ ก็จะแยกย้ายไปเปิดคลีนิคข้างนอกกันเองหรอครับ แล้วถ้าเราเปลี่ยนใหม่ ใครอยากเป็นหมอ ต้องรู้เลยว่า เป็นหมอลำบาก มีเข้ากะด้วย บังคับ 10 ปีให้รักษาคนไข้ ก่อนเริ่มเข้าเรียน จะมีคนมาเป็นหมออีกไม๊ครับ
แล้วคนเรียนหมอก็เปลี่ยนใหม่เป็นให้เรียนไปเรื่อยๆ เก็บจนกว่าจะเข้าใจ ถ้าไม่ผ่านก็สอบ แก้ไปเรื่อยๆ เหมือนเรียนราม จะได้บุคคลกรหมอเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ครับ เช่นปัจจุบันอาจจะเรียนสัก 8 ปี รุ่นใหม่เปิดสอนไป บางคนจบเรียนมาแล้ว 14 ปี 18 ปีอะไรอย่างนี้"
ต่อมาทางเพจ 1412 Cardiology ได้โพสต์ตอบคำถามนี้..ได้อย่างละเอียด ซึ่งเราอยากให้ทุกท่านได้อ่านรับลองว่าจะคลายความสงสัยได้แน่นอน....

1. ประเทศเรายากจนครับ จนอย่างเดียวไม่พอยังคอรัปชั่นโกงกินกันอีกด้วย งบประมาณที่เหลือนำมาใช้ในการพัฒนาด้านสาธารณสุขน้อยมาก ไม่มีทางพออยู่แล้ว
2. หมอไม่พอครับ ในพื้นที่ต่างจังหวัดเรามีจำนวนหมอต่อประชากรน้อยมาก น้อยเกินกว่าที่จะควรจะเป็นขั้นต่ำมานานแล้ว แต่เราก็ยังดันทุรังทำกันต่อไปเพื่อให้รู้สึกว่ามันพอ โดยการ abuse หมอและบุคลากรทางการแพทย์ให้ทำงานเกิดขีดจำกัดของมนุษย์ การดันทุรังเหล่านี้ย่อมนำมาซึ่งการดูแลรักษาคนไข้ที่ผิดพลาด ความสัมพันธ์ระหว่างหมอและคนไข้ย่ำแย่เนื่องจากไม่มีเวลาได้สื่อสารได้คุยกัน นำไปสู่การฟ้องร้องได้ง่ายขึ้นมากเป็นทวีคูณ เป็นวงจรอุบาทว์ที่นำไปสู่ความพินาศของ patient care คนไข้ทุกข์ทรมานไม่มีทางออก ทางออกเดียวที่มีคือฟ้องร้อง หมอก็ถูกปฏิบัติราวกับไม่ใช่คน หมอส่วนใหญ่ก็ทนอยู่ไม่ได้ ทุกวันนี้ต้องอาศัยกำลังคนหลักจากกลุ่มน้องแพทย์ใช้ทุนที่ไม่มีทางเลือก ต้องยอมกัดฟันทนเอาตัวรอดไปวันๆเพื่อจะได้ไปเรียนต่อและหวังลึกๆว่าจะมีชีวิตการเป็นแพทย์ที่ดีกว่านี้ด้วยการเป็นแพทย์เฉพาะทาง
3. วงจรอุบาทว์ด้วยตัวมันเองยังไม่สาแก่ใจ การแก้ไขปัญหาที่ถูกใส่เข้ามาคือ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างเท่าเทียมกันเฉกเช่นประเทศในโลกที่ 1 เท่าเทียมกันแต่เปลือก ใส่ input เข้ามาโดยไม่ได้ดูโครงสร้างภายในเลยว่ามันเหลวแหลกแค่ไหน สิ่งที่ได้มาคือปริมาณคนไข้ที่เลือกมาโรงพยาบาลง่ายขึ้นดูแลสุขภาพตัวเองน้อยลง เวลาและประสิทธิภาพในการดูแลคนไข้หนักจริงๆลดน้อยลงไปอีก ที่น่ากลัวกว่านั้นคือทัศนคติของคนไข้ว่าเป็นหน้าที่ของหมอและพยาบาลต้องตอบแทนพวกเค้าให้ดีพอ ในฐานะที่กินเงินภาษีของประชาชน สร้างความเสียใจและท้อถอยให้กับบุคลากรทางการแพทย์มากขึ้นไปเรื่อยๆ
5. แพทย์ที่ประเทศไทยต้องการมากที่สุดคือ Family Physician และ General Practitioner ในพื้นที่ต่างจังหวัด ไม่ใช่ Specialist แต่ความจริงที่เป็นอยู่คือ หมอส่วนใหญ่ต้องการเรียนต่อไปให้มากที่สุด เพื่อที่จะได้ บอร์ดและซับบอร์ดมาเป็นไม้กันหมา เหตุผลคือ หนึ่งถ้าใครทำงานเป็น GP ในรพ.อำเภอจะรู้ดีว่าการส่งต่อคนไข้ไปรักษาในรพ.ใหญ่มันอึดอัดใจแค่ไหนต้องแบกรับหรือโดนอะไรบ้างนอกเหนือจากการทำงานที่หนักมากอยู่แล้ว สองสังคมไทยยังให้คุณค่ากับ Specialist สูงกว่า Primary Care Physician ทั้งๆที่ทั้งสองต่างมีคุณค่าในตัวเองในแบบที่ต่างกัน ผมถึงพูดเสมอว่าอยากให้ GP ทุกคนผ่าน Residency Training อย่างน้อย 3 ปี นอกจากความรู้และประสบการณ์แล้ว จะได้ไม่รู้สึกว่าด้อยค่ากว่า Specialist ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ควรเกิดขึ้นในสังคมเลยครับ สุดท้าย หมอส่วนใหญ่อยากทำงานในเมืองใหญ่ๆด้วยปัจจัยเรื่องลูกและครอบครัวและอื่นๆ ไม่เหมือนประเทศพัฒนาแล้ว ที่ความเจริญทัดเทียมกันเกือบทุกพื้นที่ การเป็น Specialist มีโอกาสทำงานในเมืองใหญ่ได้มากกว่า
Mismatch เหล่านี้เกิดมานานแล้วและจะยังคงอยู่ต่อไปอีกยาวนานตราบที่ทุกปัจจัยยังคงดำเนินต่อไปแบบนี้ ถามผมว่าจะแก้ได้ยังไง อย่างแรกต้องแก้ที่คนก่อน จิตสำนึกและคุณภาพของประชากร เป็นกุญแจสำคัญที่จะแก้ปัญหาทุกอย่างเหล่านี้ได้ แต่สิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ไม่ใช่แค่ รักษาตามอาการเพื่อประคับประคอง แต่เป็นการราดน้ำมันลงไปบนกองฟางที่ไหม้อยู่แล้วให้มันพินาศมากขึ้นไปอีก สุดท้ายคนที่อยู่รอดคือคนที่หนีออกมาจากกองเพลิงนั้นได้ ส่วนคนที่อยู่ในกองเพลิงก็ก้มหน้ารับกรรมไป เท่านั้นจริงๆ
1412
เชื่อว่าบทความที่เรานำมาฝากนี้จะต้องคลายความสงสัยให้กับทุกท่านได้เข้าใจ ระบบการทำงานของโรงพยาบาลรัฐบาล และทำให้เราเข้าใจมากขึ้น
ที่มา: เว็บไซต์ พันทิป
- Advertisement -